เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 กองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรม RISE UP : Research to innovation, Startup & Enterprise Platform โดยมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างธุรกิจ (VENTURE CO – CREATION AGREEMENT) ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร กับบริษัท ออริกจิ้น เว็นเจอร์ จำกัด) เกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร และ Yi – Chyi Lum CEO of Origgin Ventures Thailand เป็นผู้ลงนาม รวมถึง ศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงกรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร และ Phusith Jitjaruek Venture Creatorร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุมมหาราช ชั้น 2 ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ “นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 21 “Research & Innovation Synergy : Collaborating for a Sustainable Future”
การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการหาแนวทางร่วมกันในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยนเรศวรไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงมีความคาดหวังที่จะได้มีโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างกันในอนาคตต่อไป
สำหรับผลงานที่ได้มีการกล่าวถึงในพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ เป็นผลงานของนักวิจัยไทยที่ได้พลิกวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรด้วยแบคทีเรียศักยภาพสูง สู่นวัตกรรม “Biosurfactant” ที่ปลอดภัย ใช้ได้จริงในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยที่มาของผลงานนี้ได้กล่าวถึงประเทศไทยมีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งมักถูกกำจัดด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น การเผาในที่โล่ง หรือถูกนำไปขายต่อในราคาต่ำ ทำให้ของเหลือใช้เหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชากร คอนดี และทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้ง ด้วยการค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ศักยภาพสูงที่สามารถผลิต “Biosurfactant” – สารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่มีความปลอดภัยสูงและเสถียรมากกว่ากลุ่มเดิม โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก
Biosurfactant ที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง ยา การเกษตร ไปจนถึงพลังงานและปิโตรเลียม โดยเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้พัฒนากระบวนการผลิตไปถึงระดับ Pilot-scale และมีความพร้อมในการขยายสู่ระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของนวัตกรรมสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้น
โดยนักวิจัยไทย